เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 11. มหาปโลภนชาดก (507)
(พระศาสดาตรัสเล่าเรื่องว่า)
[289] ภายในเมืองนั้นเอง ได้มีกุมารีแรกรุ่นนางหนึ่ง
มีผิวพรรณรูปร่างงดงาม เป็นหญิงฉลาดการฟ้อนรำขับร้อง
และได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีในการบรรเลงดนตรี
[290] นางได้เข้าไปภายในพระราชฐาน
ได้กราบทูลพระราชาดังนี้ว่า
ถ้าหม่อมฉันจักได้พระกุมารเป็นภัสดา
หม่อมฉันก็พึงประเล้าประโลมพระกุมารนั้น
[291] พระราชาได้ตรัสกับนางผู้กราบทูลอย่างนั้นดังนี้ว่า
เธอประเล้าประโลมเขาได้ เธอจักได้เขาเป็นภัสดา
(พระศาสดาทรงประกาศความข้อนั้นว่า)
[292] ก็นางครั้นไปถึงภายในพระราชฐาน
ได้บรรเลงดนตรียั่วยวนความใคร่นานับประการ
ขับกล่อมคาถาอันไพเราะจับใจ น่ารักใคร่
[293] ก็เพราะทรงสดับเสียงขับกล่อมแห่งนารีนั้นขับกล่อมอยู่
กามฉันทะได้เกิดขึ้นแก่พระกุมารนั้น
พระองค์จึงทรงสอบถามชนผู้อยู่รอบ ๆ ข้างว่า
[294] นั่นเสียงใครกัน ใครกันนั่นขับร้องสำเนียงเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ
ได้อย่างไพเราะ จับใจ น่ารักใคร่นักหนา เสนาะหูเราเหลือเกิน
(ข้าราชบริพารกราบทูลว่า)
[295] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ นั่นเป็นเสียงสตรี
น่าเพลิดเพลินมิใช่น้อย ถ้าพระองค์พึงบริโภคกาม
กามทั้งหลายจะพึงทำพระองค์ให้พอพระทัยยิ่งขึ้น
(พระราชกุมารตรัสว่า)
[296] เชิญนางมาทางนี้ ทำไมขับร้องอยู่ห่างไกลนัก
จงขับร้องอยู่ใกล้ ๆ ตำหนักของเรา และใกล้ ๆ เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :521 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [15. วีสตินิบาต] 11. มหาปโลภนชาดก (507)
(พระศาสดาตรัสต่อไปว่า)
[297] นางขับร้องอยู่ภายนอกฝาห้องพระบรรทม
แล้วได้เลื่อนเข้าไปในเรือนสำหรับบำเพ็ญฌานโดยลำดับ
เพื่อจะผูกมัดพระกุมารเหมือนการจับช้างป่า
[298] เพราะทรงรู้รสแห่งกาม ความริษยาได้เกิดแก่พระกุมารว่า
เราเท่านั้นพึงบริโภคกาม อย่าพึงมีชายอื่นอยู่เลย
[299] ต่อแต่นั้น ทรงจับพระแสงดาบ เสด็จเข้าไปหาชายทั้งหลาย
เพื่อจะทรงฆ่าทิ้งเสีย ด้วยพระดำริว่า
เราคนเดียวเท่านั้นจักบริโภคกาม อย่าพึงมีชายอื่นอยู่เลย
[300] แต่นั้น ชาวชนบททั้งปวงได้มาพร้อมกันคร่ำครวญร้องทุกข์ว่า
ขอเดชะมหาราช พระราชโอรสพระองค์นี้
ทรงเบียดเบียนชนผู้ไม่ประทุษร้าย พระเจ้าข้า
[301] ก็ขัตติยราชาทรงเนรเทศพระราชโอรสพระองค์นั้น
จากรัฐสีมาของพระองค์ด้วยพระบรมราชโองการว่า
แว่นแคว้นพ่อมีอยู่ประมาณเพียงใด
เจ้าไม่ควรอยู่ในเขตมีประมาณเพียงนั้น
[302] ครั้งนั้น พระราชโอรสนั้นทรงพาพระชายา
เสด็จไปถึงฝั่งสมุทรแห่งหนึ่ง
ทรงสร้างบรรณศาลาแล้วเสด็จเข้าป่าเพื่อทรงแสวงหาผลาผล
[303] ครั้งนั้น ฤๅษีตนหนึ่งได้เหาะมาเหนือสมุทรถึงบรรณศาลานั้น
ท่านได้เข้าไปยังบรรณศาลาของพระกุมารนั้น
ในเวลาที่นางกุมาริกาจัดแจงพระกระยาหาร
[304] ส่วนพระชายาได้ประเล้าประโลมฤๅษีนั้น
ดูเอาเถิด กรรมที่นางทำแสนจะหยาบช้าเพียงไร
ที่ฤๅษีตนนั้นเคลื่อนจากพรหมจรรย์และเสื่อมจากฤทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :522 }